บทคัดย่อโครงการวิจัย :: |
การวิจัยเชิงวิเคราะห์ภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อและปัจจัยเสริมกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของทหารบกจังหวัดอุดรธานี กลุ่มตัวอย่างเป็นทหารบกปฏิบัติงานพื้นที่จังหวัดอุดรธานีจำนวน 338 คน ได้มาโดยสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือเป็นแบบสอบถาม หาคุณภาพโดยใชสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบราค ได้ค่าความเชื่อมั่นด้านเจตคติเท่ากับ 0.89 การรับรู้ความเชื่อด้านสุขภาพเท่ากับ 0.85 และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากเท่ากับ 0.91 เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ด้วยสถิติไคสแควร์และสถิติสัมประสิทธิสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชายร้อยละ 92.6 อายุระหว่าง 20-40 ปี (ร้อยละ 78.0) เป็นทหารชั้นประทวนร้อยละ 84.3 ส่วนใหญ่ไม่มีโรคประจำตัวร้อยละ 88.2 ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากทางสื่อออนไลน์และสื่อโทรทัศน์ร้อยละ 52.7 และ 43.5 ตามลำดับ โดยร้อยละ 63.3 เข้ารับบริการตรวจสุขภาพช่องปากครั้งสุดท้ายนานกว่า 1 ปี มีเจตคติเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากระดับสูง (x̄ =4.2, S.D = 0.7) ความเชื่อด้านสุขภาพภาพรวมระดับมาก (x̄ = 4.2, S.D = 0.6) พฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากภาพรวมระดับมาก (x̄ =4.4, S.D = 0.8) การวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่า 1) ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุราชการ สถานภาพสมรส รายได้ 2) ปัจจัยนำ ได้แก่ เจตคติและการรับรู้ความเชื่อด้านการดูแลสุขภาพช่องปาก 3) ปัจจัยเอื้อ ได้แก่ การเข้าถึงบริการและการได้รับคำแนะนำจากบุคลากร และ 4) ปัจจัยเสริม ได้แก่ การสนับสนุนของหน่วยงาน มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของทหารบกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 |